โรคไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา
โรคไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา
โรคชิคุนกุนยานี้เป็นโรคเก่า แต่อุบัติใหม่ รู้จักกันมานานเกือบ 60 ปี (พ.ศ.2495) โดยที่วินิจฉัยครั้งแรกในประเทศแทนซาเนีย
ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นภาษามากอนดี แปลว่าตัวโค้งงอ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง มีผื่น ปวดข้อมากจนตัวโค้งงอ เลยตั้งชื่อโรคนี้ตามลักษณะอาการของผู้ป่วย
โรคชิคุนกุนยานี้เคยระบาดในประเทศไทยมาก่อนในช่วงปี พ.ศ.2500-2510 มีการระบาดอย่างมากในเด็ก มีผู้ป่วยจำนวนมากนับหมื่นราย และได้สงบหายไปนานกว่า 30 ปี แต่เดิมผู้ป่วยในประเทศไทยจะเกิดจากเชื้อชิคุนกุนยาสายพันธุ์เอเชีย โดยมียุงลายบ้านเป็นพาหะ (Aedes aegypti)
ปี พ.ศ.2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์แอฟริกา ขึ้นในประเทศแอฟริกาตะวันออก โดยการกลายพันธุ์ในส่วนยีน E1 ในตำแหน่งที่ ๒๒๖ กรดอะมิโนเปลี่ยนจาก “อะลานีน” ไปเป็น “วาลีน” ทำให้เชื้อเหมาะในการแพร่พันธุ์ในยุงลายสวน (Aedes Albopictus) ทำให้มีการระบาดขึ้น โรคชิคุนกุนยาได้ระบาดเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากในแอฟริกาตะวันออก จนกระทั่งปี พ.ศ.2548-2549
การระบาดได้เข้าสู่ประเทศอินเดียมีผู้ป่วยจำนวนนับหมื่นคนในปี พ.ศ.2550 เริ่มมาระบาดที่ศรีลังกา และ พ.ศ.2551 เข้าสู่ประเทศอินโดนีเซียและแหลมมลายู จากนั้นเข้าสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม และแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ 15 จังหวัดภาคใต้
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ทำการศึกษาในผู้ป่วยกว่า 500 ราย และทำการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสชิคุนกุนยาพบว่าไวรัสดังกล่าวเป็นสายพันธุ์แอฟริกัน ไม่ใช่สายพันธุ์เอเชีย ที่เคยมีการระบาดในอดีต โดยมีการกลายพันธุ์ในส่วน E1 gene ตำแหน่ง 226 จริง ประชากรไทยส่วนใหญ่จึงยังไม่มีภูมิต้านทาน ประกอบกับทางภาคใต้มียุงลายสวน (อยู่ในสวนยาง) จำนวนมากจึงเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคได้เป็นอย่างดี โรคดังกล่าวได้แพร่กระจายขยายวงกว้างมากขึ้นสร้างปัญหาให้กับชาวสวนเป็นอย่างมาก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในวัยผู้ใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี มีอาการไข้ออกผื่น ตามสื่อมวลชนเรียก ไข้ญี่ปุ่น จึงไม่ถูกต้องเพราะในประเทศญี่ปุ่นไม่มีโรคดังกล่าวน่าจะเรียกไข้ออกผื่นแอฟริกันมากกว่า (หรือไข้หัดแอฟริกัน) ปวดเมื่อยตามตัวและปวดข้อ อาการปวดข้อมักเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน โรคชิคุนกุนยาไม่ทำให้เสียชีวิต ไม่มียารักษาจำเพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน จำเป็นต้องป้องกัน โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันไม่ให้ยุงกัดเวลาไปทำสวน กรีดยาง
โรคชิคุนกุนยามีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ในวงศ์ Togaviridae ในสกุล Alphavirus เป็นเส้นอาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยวยาว 11,805 นิวคลีโอไทด์ กรดอะมิโนที่ถอดรหัสจำนวน 3,718 กรดอะมิโน จะนำมาสร้างเป็นองค์ประกอบไวรัสและทำหน้าที่ในการดำรงชีวิตและการแบ่งตัวของไวรัส
ไวรัสชิคุนกุนยาแบ่งสายพันธุ์ได้เป็นสายพันธุ์อาเซียน แอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาตะวันตก การระบาดครั้งนี้เป็นสายพันธุ์ “แอฟริกาตะวันออก”
พาหะของโรค
พาหะของโรค (Vector) ได้แก่ยุงลายเช่นเดียวกับไข้เลือดออก กล่าวคือในสมัยก่อนชิคุนกุนยาจะมีพาหะนำโรคเป็นยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นตัวนำแพร่กระจายหลักและยุงลายสวน หรือยุงลายเสือ (Asian tiger mosquito) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aedes albopictus แต่ในการระบาดครั้งนี้พบว่ายุงลายสวนเป็นสาเหตุสำคัญ โดยมีสิ่งแวดล้อมทางภาคใต้เป็นแหล่งที่เหมาะอาศัยของยุงลายสวนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสวนยาง อย่างไรก็ตาม ยุงลายสวนยังสามารถพบได้บริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่นและมาก เช่น ชานเมืองกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ยังพบว่าไข้ชิคุนกุนยา สายพันธุ์แอฟริกา ยังมีสัตว์จำพวก non-human primates เช่น ลิง และสัตว์จำพวกฟันแทะ (rodent) เป็นแหล่งกักเก็บเชื้อไว้ได้ด้วย
จากการระบาดที่ภาคใต้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์ใดเป็นตัวกักเก็บโรคไว้หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการศึกษา เพื่อวางมาตรการควบคุมได้ถูกต้อง โรคดังกล่าวจะเกิดในมนุษย์ได้ จะต้องมียุงที่มีเชื้อโรคมากัด และปล่อยเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้าร่างกาย
การศึกษาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไวรัสจำนวน 42 สายพันธุ์ พบว่าทั้งหมดมีการกลายพันธุ์ A226V บนส่วนของ E1 ที่เป็นโปรตีนส่วนนอกโดยการเปลี่ยนกรดอะมิโน จากอะละนีน (A) ไปเป็นวาลีน (V) ที่ตำแหน่ง 226 และเป็นสายพันธุ์แอฟริกันตะวันออก
ระบาดวิทยา
โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่รู้จักกันมานานกว่า 50 ปี มาแล้วและเคยระบาดใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะในประเทศไทย เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็มีการพบประปราย จนกระทั่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โรคดังกล่าวได้สงบลง และไม่ได้มีการกล่าวถึงกันมากนัก
ในปี พ.ศ.2547 เกิดการระบาดของโรคเป็นบริเวณกว้างที่อาณานิคมของฝรั่งเศส บริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย (La Reunion Island) และได้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาตะวันออก เช่น กาบอง (Gabon) และเข้าสู่ประเทศอินเดีย ลงมาสู่ศรีลังกา เข้าอินโดนีเซีย แหลมมลายู และเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณชายแดนจังหวัดภาคใต้ ในปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม และระบาดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยขยายวงกว้างขึ้น 15 จังหวัด ทางภาคใต้ และเริ่มพบในจังหวัดอื่นบ้างโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปจังหวัดภาคใต้มา
การระบาดดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมาเชื่อว่ามีผู้ป่วยแล้วมากกว่า ๑ ล้านคนทั่วโลก
ลักษณะทางคลินิก
โรคชิคุนกุนยาจะมีอาการค่อนข้างเฉียบพลัน โดยมีระยะฟักตัวของโรค 2-3 วัน (หลังจากโดนยุงกัด) จะมีอาการไข้สูงอ่อนเพลีย ไม่สบาย ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวมาก มีผื่นคล้ายหัดในเด็ก มีไข้สูงได้ถึง 39-40 องศาเซลเซียส ที่จะมีไข้อยู่ประมาณ 3 วัน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ โดยข้อที่ปวดจะเป็นข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ แต่ผู้ป่วยจะบ่นถึงการปวดข้อใหญ่ เพราะทำให้ลงน้ำหนัก หรือเดินลำบาก อาการปวดข้อจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ มีบางราย รุนแรง และเป็นอยู่นานนับเดือนเลยทีเดียว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการจุดเลือดออกเหมือนไข้เลือดออกทั้งนี้เพราะเกล็ดเลือดผู้ป่วยจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การวินิจฉัยโรค
โรคชิคุนกุนยาวินิจฉัยไม่ยาก ถ้าเกิดในแหล่งระบาดของโรค เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ถ้าเกิดบริเวณที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรค การวินิจฉัยอาจสับสนกับโรคอื่นๆ ได้ ลักษณะทางคลินิกของโรคชิคุนกุนยาค่อนข้างชัดเจน
การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการแต่เดิมจะทำการศึกษาโดยการทำ hemaglutination inhibition (HI) โดยดูการเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ของการตรวจเลือดในช่วงแรกและช่วงที่ฟื้นจากไข้
ปัจจุบัน ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จะทำการวินิจฉัย โดยชีวโมเลกุลด้วยการตรวจ RT-PCR หาตัวไวรัส โดยจะตรวจพบได้ในช่วง 4 วันแรกของไข้ และอัตราการตรวจพบจะลดน้อยลง การตรวจวินิจฉัยภูมิต้านทานชนิดทาน IgM สามารถทำได้ทั้งอย่างรวดเร็วและวิธี ELISA ภูมิต้าน IgM จะยังตรวจไม่พบใน 4 วันแรก (ร้อยละ 10) และจะพบได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 9 วันหลังมีไข้ อย่างไรก็ตาม การตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นการตรวจเพื่อสนับสนุนและใช้ในการศึกษาการระบาดและควบคุมโรคให้ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การดูแลรักษา
สิ่งที่สำคัญคือให้กำลังใจผู้ป่วยว่าโรคชิคุนกุนยาจะหายได้เอง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ การให้ยาแก้ปวดในกลุ่มที่มีผลต่อกระเพาะ ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดเพื่อไม่ให้ยุ่งแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ระยะที่แพร่เชื้อจะอยู่ในช่วง 5 วันแรกนับจากวันที่เริ่มมีไข้
การป้องกันและควบคุมโรค
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนและยาซึ่งสามารถป้องกันและรักษาโรคชิคุนกุนยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่โรคชิคุนกุนยาสามารถป้องกันได้ การควบคุมยุงลายเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรค โดยวิธีควบคุมยุงลายมีดังต่อไปนี้
ป้องกันการแพร่กระจายพันธุ์ของยุงลาย
ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำและไม่ปล่อยให้มีน้ำขังตามที่ต่างๆ รอบบ้าน เช่น ยางรถเก่า การเลี้ยงปลาหางนกยูงหรือปลากัดในน้ำปลูกต้นไม้หรืออ่างน้ำประดับสวน ปลาจะช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย
ตัดหญ้าให้เตี้ย ยุงตัวเต็มวัยอาศัยทุ่งหญ้าเป็นที่หลบแดดร้อนในเวลากลางวัน
กรณีที่ไม่สามารถปิดหรือกำจัดแหล่งน้ำขังได้ ให้เติมทรายอะเบต
การป้องกันยุงกัด
ติดตั้งมุ้งลวดและใช้มุ้ง โดยเฉพาะเมื่อเด็กเล็กนอนกลางวัน การใช้สารพิษฆ่าแมลงเพื่อกำจัดยุง เมื่อต้องการกำจัดยุงเป็นบริเวณกว้าง เช่นในหมู่บ้านที่พบการระบาดของโรคชิคุนกุนยา อาจใช้ 2% pyrethrum พ่น ใช้ยาทาไล่ยุงที่มีส่วนผสมของ DEET ซึ่งสามารถใช้บนผิวหนังได้ สวมเสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาว เมื่อจำเป็นต้องออกไปบริเวณที่มียุงชุม เช่น สวนยางพารา การป้องกันจะได้ผลต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและประชาชนในท้องที่ร่วมมือกัน
นพ.ยง ภู่วรวรรณ๑ นอราห์ วุฒิรัตนโกวิท๓ พรพิมล เรียนถาวร๑, ๒
๑ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
๓ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ นราธิวาส
Cr หมอชาวบ้าน