Bangpakok Hospital

อีสุกอีใส เตือนระวังระบาดช่วงหน้าหนาว

23 ม.ค. 2561

โรคอีสุกอีใส เป็นแล้วเป็นอีกได้ เตือนระวังระบาดช่วงหน้าหนาว

โรคหน้าหนาวอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวัง โรคอีสุกอีใส  (Chickenpox/Varicella)  เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส วาริเซลลา ที่เกิดกับเด็กและผู้ใหญ่ได้ มีลักษณะอาการเป็นผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง และมีไข้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และยังแพร่กระจาย

สาเหตุของโรค

ไวรัสวาริเซลลาเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) หรือ human herpes virus type 3 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด

การติดต่อ
ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือ สัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็น อีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือกระยะฟักตัว 10-20 วัน

อาการของโรค
  1. มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว 2-4 วัน
  2. เริ่มมีผื่นแดงเกิดขึ้น และผื่นอีสุกอีใสจะทำให้คันมาก ผื่นจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าและลำตัวก่อนแล้วค่อยๆ ลามไปยังแขนขา และอาจขึ้นในเยื่อบุช่องปาก และกับผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก ผื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะต่างๆ อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง
  3. หลังจากผื่นขึ้นแล้วประมาณ 1-2 วัน ผื่นแดงกลายเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำและตกสะเก็ด ตุ่มน้ำจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำอยู่บนผิวหนังที่แดง เมื่อตุ่มน้ำโตเต็มที่จะกลายเป็นตุ่มหนอง ช่วงเป็นตุ่มน้ำนี้อาจจะใช้เวลาในการทยอยขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์
  4. หลังจากตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัวแล้ว จะค่อยๆ ยุบและแห้งลง และกลายเป็นสะเก็ดที่รอหลุด ระยะที่ตุ่มน้ำแห้งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน และหลังจากนั้นจะเป็นเวลาที่สะเก็ดแผลจะค่อยๆ แห้งขึ้นเรื่อยๆ จนสะเก็ดหลุดออกเองและทำให้ผิวเป็นปกติ ซึ่งรวมระยะเวลาในการเป็นโรคอีสุกอีใสประมาณ 2 สัปดาห์

อาการแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นได้รับยารักษามะเร็ง หรือ สเตอรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายในเช่น สมอง ปอด ตับ ได้


การป้องกันโรค
การป้องกันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงออกอาการไข้ไปจนถึงช่วงแผลแห้งตกสะเก็ด ดังนั้นทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดของร่างกายและของใช้ ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

  1. วัคซีนอีสุกอีใสสามรถฉีดครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 12 – 18 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบติดเชื้อได้บ่อยที่สุด แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกิดการระบาด หรือเพิ่งรับเชื้อ ให้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ทันที แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  2. การรับวัคซีนอีสุกอีใสสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ที่ยังไม่เคยมีเป็นโรคอีสุกอีใส ให้รับ 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
  3. วัคซีนอีสุกอีใสสำหรับอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับวัคซีน 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน หรือ ภายใน 4-8 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก
  4. วัคซีนโรคอีสุกอีใส นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้ว

การรักษา

เนื่องจากเป็นโรคที่หายเองได้ โดยอาจจะมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยา เพื่อลดไข้ได้ ไม่ควรใช้ แอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ ทำให้ถึงตายได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ในรายที่คันมากๆ อาจให้ยาแก้คันช่วยลดอาการคันได้ ในปัจจุบัน มียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แต่ต้องใช้ในขนาดสูงและราคาแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรก มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือไม่ได้ผลดี

สนใจดูข้อมูลวัคซีน
http://bit.ly/2B3LKwI

ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2109-8111 ต่อ 2117, 2118

 

 

 

 

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.